มมส ร่วมพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะ เนื่องในวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

วันที่ 17 มกราคม 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล ผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มอบหมายให้นายจีรพันธ์ ภูครองเพชร ผู้อำนวยการกองกลาง นำข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เนื่องในวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยมี นายนพสิทธิ์ อุดมสุวรรณกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานในพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สด จุดเครื่องทองน้อย กล่าวคำถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติฯ ณ หอประชุมจังหวัดมหาสารคาม

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง กรุงสุโขทัย ทรงทำนุบำรุงปกครองบ้านเมืองด้วยพระเมตตาธรรมต่อไพร่ฟ้า อาณาประชาราษฎร์ทรงสร้างสรรค์มรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมที่สำคัญๆ ของชาติไว้อย่างอเนกอนันต์มรดกของชาติที่สำคัญที่สุดก็คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงคิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อประมาณปีพุทธศักราช 1826 อันเป็นต้นกำเนิดของอักษรไทยที่ใช้กันในทุกวันนี้

นอกจากนี้พระองค์ท่านยังได้ทรงรวบรวมแคว้นต่าง ๆ เข้าด้วยกันจนเป็นราชอาณาจักรไทยที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่าทุกยุคสมัยที่ผ่านมา พระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประโยชน์แก่ประเทศชาติของพระองค์ท่านล้วนแต่เป็นการวางรากฐาน แห่งความเจริญไว้ให้แก่ประเทศชาติและปวงชนชาวไทยทุกคนสืบทอดต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนานมากว่า 718 ปี

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ดังที่ได้ประจักษ์รัฐบาลและปวงชนชาวไทย จึงได้พร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญาแด่พระองค์ท่านเป็น “มหาราช” พระองค์แรกของชาติไทย และได้ร่วมกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ท่านขึ้นไว้เพื่อสักการะ ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ จังหวัดสุโขทัย โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีอัญเชิญดวงพระวิญญาณของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จากศาลพระแม่ย่าไปสถิต ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ฯ แล้วทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อวันที่17 พฤศจิกายน พ.ศ.2528 โดยจังหวัดสุโขทัยได้จัดให้มีพิธีถวายบังคมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 เป็นต้นมา นับแต่นั้นมาประมาณสามปีคือในเดือนธันวาคม พ.ศ.2531 สำนักงานสภาจังหวัดสุโขทัย ได้มีหนังสือเสนอต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ขอให้มีการกำหนด “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช” ขึ้น โดยถือเอา วันที่ 17 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงประกอบพระราชพิธีและทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เป็น “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช”

ต่อมาคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย และจัดเอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้พิจารณาทบทวนเรื่องการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์โดยคำนึงถึงความเหมาะสม และความถูกต้องตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้เสนอความคิดเห็นว่า ควรจะเป็นเหตุผลที่ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2376 เมื่อได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในคราวประชุม เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2532 แล้ว ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติตามที่สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ ในการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ ซึ่งคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ และคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้พิจารณาเห็นชอบด้วยแล้ว ดังนั้นวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2533 จึงเป็น “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช” วันสำคัญทางประวัติศาสตร์วันหนึ่งซึ่งถูกกำหนดขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก

รายละเอียดเพิ่มเติม : https://news.msu.ac.th/mnews/msuhotnews/incread.php?hid=10946

ภาพ/ข่าว : บุณฑริกา ภูผาหลวง
ที่มา : งานพิธีการและกิจการพิเศษ

Comments are closed.